บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สานต่อความร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการดำเนินโครงการ “ลดเปลี่ยนโลก” ปีที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” ตั้งแต่ปี 2548 โดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนและชุมชนจากทั่วประเทศจัดประกวดแผนงาน ในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนในพื้นที่ของตน เพื่อมุ่งเน้นการขยายผลการต่อยอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สู่การสร้างชุมชนต้นแบบที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน ต่อไป
โครงการ “ลดเปลี่ยนโลก” ปีที่ 2 เริ่มดำเนินการรับสมัครผู้เข้าแข่งขัน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีโรงเรียนและชุมชนให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 350 แห่งทั่วประเทศ โดยในปีนี้ โครงการฯ มุ่งเน้นให้เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านของชุมชน ที่มุ่งเน้นต่อยอดให้เกิดการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ควบคู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตลอดจนด้านโรงเรียน ที่มุ่งเน้นในการนำนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้จริงในชุมชน ไปจนถึงถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
นายสุวิทย์ ไชยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาวะโลกเดือด ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โครงการในปีนี้ จึงมุ่งเน้นที่การลงมือปฏิบัติจริงอย่างยั่งยืน โดยนอกเหนือจากการนำองค์ความรู้จากโตโยต้าและพันธมิตร ไปขยายผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน และโรงเรียนทั่วประเทศไทย เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เรายังมุ่งเน้นให้มีกระบวนการส่งต่อองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนพันธกิจของประเทศ และโตโยต้า ในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 ต่อไป”
โครงการลดเปลี่ยนโลก ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่
- โครงการ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก” นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของ สวทช. มาถ่ายทอดสู่สถานศึกษา ผ่านโครงการประกวดผลงานนวัตกรรม สำหรับจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโรงเรียน
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. โดย นาโนเทคนั้น มุ่งมั่นเป็นองค์กรวิจัยชั้นนำที่ใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการผลักดันเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ทีมวิจัยนาโนเทคให้ความสำคัญและดำเนินการวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรม “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก” ภายใต้โครงการ “ลดเปลี่ยนโลก” นี้ จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนความมุ่งมั่นของนาโนเทค ผ่านเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะได้นักวิจัยที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ช่วยเป็นพี่เลี้ยง พัฒนาต้นแบบจากแผนการประกวดที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย”
“ความคิดสร้างสรรค์และมุมมองของคนรุ่นใหม่สู่นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดคาร์บอนตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น มีความสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มจากแนวคิด มุมมองของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ไปจนถึงการคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยลดมลพิษต่างๆ นำไปสู่ผลงานต้นแบบที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคต” ดร. อุรชากล่าว พร้อมเผยว่า “ในปีนี้ เรายังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยผลงานต้นแบบของทีมที่ชนะเลิศ จะถูกต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนหรือสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อเป็นผลงานตัวอย่างให้รุ่นน้องได้มาศึกษา เรียนรู้ และเป็นแรงบันดาลใจให้พัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง”
- โครงการ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้านและองค์ความรู้จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มาขยายการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนในชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน แก่ชุมชนรอบข้างต่อไป
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้ร่วมพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและระดับภูมิภาค โดยนำองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 30 ปี มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนากระบวนการประกวดให้มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุก ๆ ปี”
“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของชุมชน ที่เป็นหน่วยพื้นฐานในสังคม และเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะต้องผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดมลพิษ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมตั้งแต่ กิจกรรมเล็ก ๆ ในครัวเรือน ไปจนถึงกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับชุมชนและในระดับประเทศ หากชุมชนไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การจะบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก เราจึงต้องดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำความเข้าใจ และช่วยกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนถอดบทเรียนและขยายผล”
ดร.วิจารย์ กล่าวเสริมว่า “สำหรับโครงการในปีนี้ นอกจากจะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มแหล่งดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสนับสนุนการสร้างสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างรายได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน”
ปัจจุบัน โครงการฯ ได้คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อย ทั้งในประเภทชุมชนและโรงเรียน โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นให้ความรู้และทักษะเฉพาะกับผู้เข้าแข่งขันในการพัฒนาโครงการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่รอบสุดท้าย คือการลงมือดำเนินงานจริง โดยจะมีการติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะประเภทละหนึ่งทีมจากทั้งสองประเภท ในช่วงเมษายน 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับโอกาสศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาต่อยอดและขยายผลงานให้มีความเหมาะสม ทันสมัย และเกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป.