รถยนต์โตโยต้าซึ่งใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง จะร่วมการแข่งขันนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
บริษัท ROOKIE Racing (ทีมแข่ง ROOKIE Racing) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (โตโยต้า) ประกาศร่วมศึกการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบรูปแบบ Endurance ต่อเนื่อง 25 ชั่วโมงครั้งแรกของประเทศไทย และทวีปเอเชีย ในรายการ IDEMITSU 1500 SUPER ENDURANCE 2022 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคมนี้ โดยจะเป็นผู้ขับคนแรกและช่วงท้ายของรายการ ที่สำคัญ ครั้งนี้ยังเป็นรายการแข่งขันครั้งแรกนอกประเทศญี่ปุ่นของรถต้นแบบรุ่นพิเศษ 2 รุ่น นั่นคือ รถต้นแบบ ORC ROOKIE GR Corolla H2 concept ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน*1 และรถต้นแบบ ORC ROOKIE GR86 CNF Concept ที่ใช้เชื้อเพลิงซึ่งมีความเป็นกลางทางคาร์บอน*2
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์จากทีม Toyota Gazoo Racing Team Thailand ที่จะลงแข่งด้วยรถที่ใช้เชื้อเพลิงซึ่งมีความเป็นกลางทางคาร์บอนจำนวนหนึ่งคัน แสดงถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับ และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกีฬามอเตอร์สปอร์ต ผ่านจุดเริ่มต้นของการประกาศเข้าร่วมศึกการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแบบ Endurance 25 ชั่วโมง ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย
ความท้าทายของทีมแข่ง ROOKIE Racing ในรายการ Super Taikyu series ของประเทศญี่ปุ่น
ทีมแข่ง ROOKIE Racing และโตโยต้าได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ Super Taikyu series*3 ที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โดยในช่วงครึ่งหลังของรายการแข่งขันประจำฤดูกาลปี 2564 ได้ส่งรถแข่งโตโยต้า โคโรลล่า ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงเข้าร่วมการแข่งขัน และแสดงความมุ่งมั่น เพื่อขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภายใน และภายนอกภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจุดยืนเช่นเดียวกัน ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันตลอดทั้งกระบวนการ นับตั้งแต่ขั้นตอนของ “การผลิต” “การขนส่ง” และ “การใช้” พลังงานไฮโดรเจน เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างแท้จริง สำหรับการแข่งขันประจำฤดูกาล พ.ศ. 2565 นอกจากรถแข่ง GR Corolla ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนแล้ว จะส่งรถแข่งรุ่น GR86 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนจากชีวมวลเข้าร่วมแข่งขันด้วย สะท้อนความท้าทายเพื่อนำเสนออีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด และยั่งยืน ซึ่งมาจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน
มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้ง และเจ้าของทีม ROOKIE Racing เข้าร่วมการแข่งขันด้วยตนเองโดยใช้นามว่า “Morizo”
การขยายผล ผ่านกีฬามอเตอร์สปอร์ตในทวีปเอเชีย
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมแข่ง ROOKIE Racing และโตโยต้า ได้สาธิตการทดลองวิ่งรถรุ่น GR Yaris H2 พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา ในการแข่งขันรอบที่ 9 ของรายการ World Rally Championship (WRC) ณ เมืองอีเปอร์ (Ypres) ประเทศเบลเยี่ยม และในรอบที่ 13 ของรายการ WRC ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสาธิตศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างในสนามแข่งรถ ว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกซึ่งนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ นอกจากนั้น นักแข่งอย่าง Morizo ยังได้ขับพิสูจน์ด้วยตนเอง เพื่อเสริมความมั่นใจในด้านความปลอดภัย และสมรรถนะการขับขี่ของรถที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนอีกด้วย
และนี่เป็นช่วงเวลาที่พร้อมแล้วของรถพลังงานไฮเดรเจน ในการมาสาธิตให้เห็นถึงศักยภาพภายในภูมิภาคเอเชีย ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่เป็นสนามแข่งรถหลักมาตรฐานระดับโลกของประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติจัดรายการแข่งขันระดับสากลหลายรายการด้วยกัน รวมถึงรายการแข่งขันมอเตอร์ไซด์ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุดในประเทศไทยอย่างรายการ Thailand MotoGP โดยนับตั้งแต่การเปิดสนามแห่งนี้ เมื่อพ.ศ. 2557 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ประกาศเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลัก ตลอดจนร่วมส่งเสริมการพัฒนาของวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทย ด้วยการจัดรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบในสนามแห่งนี้ โดยในพ.ศ. 2562 ทีมแข่ง ROOKIE Racing ได้เข้าร่วมการแข่งขันที่สนามแห่งนี้เป็นครั้งแรก และสามารถคว้าแชมป์จากการแข่งขันรถยนต์แบบ Endurance ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมงในรายการ “IDEMITSU 600 SUPER ENDURANCE 2019″ สำหรับปี 2565 นี้ ทีมแข่ง ROOKIE Racing และโตโยต้า ได้หวนคืนสู่สังเวียนศึกอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนาน 3 ปี โดยจะส่งรถเข้าร่วมแข่งขันภายใต้สภาวะที่แตกต่างจากในประเทศญี่ปุ่น เพื่อเร่งขยายทางเลือกด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยนำไปสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนทั่วโลก
จุดยืนของโตโยต้าเพื่อมุ่งสู่สังคมแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอนในทวีปเอเชีย ผ่านทางเลือกหลากหลายในด้านเทคโนโลยี
โตโยต้ามุ่งบรรลุพันธกิจด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ด้วยวิธีการที่ทำได้จริง และยั่งยืน เพื่อมุ่งสร้าง “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” รวมทั้ง โตโยต้าในทวีปเอเชียด้วยเช่นกัน
โตโยต้ามุ่งพัฒนา และนำเสนอทางเลือกของเทคโนโลยีในยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท สู่ตลาดรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อขยายความพยายามในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และนำเสนอทางเลือกเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนให้กับลูกค้า โดยมีทางเลือกด้านเทคโนโลยีอันหลากหลาย นับตั้งแต่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบระบบไฮบริด เทคโนโลยีไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ขับเคลื่อนระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า และรถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดนเจน ซึ่งทางเลือกเหล่านี้ช่วยตอบสนองความหลากหลาย ทั้งปัจจัยทางด้านภาวะเศรษฐกิจของลูกค้า ความพร้อมของแหล่งพลังงานที่มีอยู่ ความพร้อมด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน นโยบายด้านอุตสาหกรรม และความต้องการด้านรูปแบบการขับเคลื่อนของลูกค้าที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
วิธีการดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยให้การเข้าถึงเทคโนโลยีขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าเป็นไปอย่างเหมาะสม และรวดเร็ว ทั้งยังส่งเสริมเป้าหมายหลักสำคัญระดับชาติของแต่ละประเทศ ตลอดจนร่วมส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอน ช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของอากาศ ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และยังก่อให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนด้านการจ้างงาน ควบคู่ไปกับการเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่ทำได้จริง โดยโตโยต้ามุ่งสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนบนพื้นฐานที่ว่าจะสร้าง “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” ควบคู่ไปกับเป้าหมายที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง – Leave No One Behind”
การเข้าร่วมรายการแข่งขัน ที่จะจัดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ของทีมแข่ง ROOKIE Racing และโตโยต้า จะแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนและพลังงานเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนจากชีวมวลในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่จะขยาย และเร่งพัฒนาทางเลือกของเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อน ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ทวีปเอเชียผ่านกีฬามอเตอร์สปอร์ตอีกด้วย
*1 เครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจนสร้างพลังงานด้วยกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยระบบสูบฉีดและจ่ายเชื้อเพลิง ซึ่งดัดแปลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม เครื่องยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนนั้นจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ในระหว่างกระบวนการเผาไหม้ที่ใช้น้ำมันเครื่องจำนวนเล็กน้อยขณะขับขี่
การเผาไหม้พลังงานไฮโดรเจนนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้เกิดกระบวนการตอบสนองที่ดีเยี่ยม ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนยังคงคุณสมบัติด้านความสนุกเร้าใจในขณะขับขี่ผ่านเสียงและการสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์
ลิงก์สาธิตการทำงานแบบย่อ:
*2: เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่เป็นกลางทางคาร์บอนหรือเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนจากชีวมวล คือเชื้อเพลิงที่อยู่ในรูปแบบของเหลว สังเคราะห์ขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และไฮโดรเจน เชื้อเพลิงดังกล่าวมีคาร์บอนเป็นกลางเนื่องจากจำนวนของ CO2 ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้นั้นมีค่าเทียบเท่ากับจำนวนที่พบในการผลิตเชื้อเพลิง โดย “e-fuels” คือศัพท์ที่ใช้เรียกเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนจากชีวมวล ซึ่งผลิตโดยพลังงานไฮโดรเจนที่มีแหล่งกำเนิดมาจากพลังงานทางเลือก ทั้งเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่ยั่งยืนจากชีวมวลและเชื้อเพลิงที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นกลางทางคาร์บอน
*3: รายการ Super Taikyu series คือรายการแข่งขันรถยนต์แบบ Endurance สำหรับรถที่ผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อพ.ศ. 2534 เป็นต้นมา สำหรับในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นที่รู้จักในชื่อของ S-Tai รายการแข่งขันนี้ถือเป็นรายการแข่งรถแบบ Endurance แนวหน้าของทวีปเอเชีย ทั้งเป็นที่ชื่นชอบมีผู้ที่ติดตามรายการต่อเนื่องหลายปีเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนนักแข่งจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เข้าร่วมรายการแข่งขันนี้เพิ่มมากขึ้น