นิสสัน ประเทศไทย สนับสนุนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในโครงการความร่วมมือและการศึกษาแนวทางการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือ Vehicle-to-Grid (V2G) เป็นครั้งแรกในประเทศ รวมถึงการควบคุมระบบโดยศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ
ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว นิสสัน ประเทศไทย จะร่วมมือกับ กฟผ. ศึกษาและทดสอบเทคโนโลยี Vehicle to Grid (V2G) โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของรถยนต์ นิสสัน ลีฟ (Nissan LEAF) รถยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า 100% ที่ใช้เทคโนโลยีการชาร์จไฟแบบสองทาง (Bidirectional charge) ซี่งจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้ระบบชาร์จไฟแบบสองทาง และมีนิสสัน ลีฟเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้งานระบบดังกล่าวจริง
โดยในพิธี ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดี และ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ กฟผ. นำร่องศึกษาการแปลงพลังงานระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) และการควบคุมกำลังไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
ความร่วมมือกับ กฟผ. ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบลู สวิตช์ (Blue Switch) ที่นิสสันจัดทำขึ้น เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น โดยอาศัยเทคโนโลยีพิเศษในรถยนต์นิสสัน ลีฟซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเป็นแค่ยานพาหนะ และยังจะสนับสนุนโครงการพัฒนาเชิงสังคม เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (ecotourism) และการบรรเทาภัยพิบัติในยามวิกฤต
อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า “นิสสันดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 70 ปี เรามุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของนิสสัน”
“นิสสัน ประเทศไทย ขอขอบคุณ กฟผ. ที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ต่อไปในอนาคต และนิสสันจะยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค เพื่อช่วยกันทำให้สังคม และโลกของเรา มีความยั่งยืน และสะอาดมากขึ้น”
ก่อนหน้านี้ นิสสันได้ประกาศ Ambition 2030 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวในการพัฒนายานยนต์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในกิจกรรมที่จะบรรลุวิสัยทัศน์นี้ คือ โครงการ บลู สวิตช์ ซึ่งได้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยนิสสันได้ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรพันธมิตรหลายแห่งในการศึกษาแนวทางที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากยิ่งขึ้น
นิสสัน ลีฟ เป็นหนึ่งในรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีจำหน่ายในประเทศไทย และมีเทคโนโลยี bi-ditrctional charger ที่ทำให้สามารถใช้รถยนต์ไฟฟ้าชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันของเราได้หลากหลายมากขึ้น เทคโนโลยีชาร์จไฟแบบสองทางนี้ ทำให้เจ้าของรถยนต์สามารถชาร์จไฟจากระบบไฟบ้านเข้าสู่รถยนต์นิสสัน ลีฟ รวมทั้งยังสามารถส่งพลังงานไฟฟ้าจากรถยนต์ของตนเองคืนกลับไปยังโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ.ได้ ผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบสองทิศทางสำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่น Quasar จากแบรนด์ Wallbox ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานสุดอัจฉริยะระดับโลก ที่นำเข้าและให้บริการหลังการขายโดยบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ทำให้สามารถใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการใช้งานภายในบ้านและการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ ในกรณีที่เกิดเหตุภัยพิบัติที่ทำให้ไฟฟ้าดับในชุมชน ก็สามารถใช้นิสสัน ลีฟ เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้ นอกจากนี้ ระบบชาร์จไฟฟ้าสองทางในนิสสัน ลีฟ ยังสามารถจ่ายพลังงานสำรองกลับเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยในช่วงพีคหรือช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ด้วย ด้วยแบตเตอรี่ขนาดความจุ 40 กิโลวัตต์ ทำให้นิสสัน ลีฟ สามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่หนึ่งครัวเรือนไทยขนาดทั่วไปได้ประมาณ 2-3 วัน
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้เตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าและการบริหารจัดการพลังงานรองรับการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงรองรับเทคโนโลยีการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดย กฟผ. ได้พัฒนาออกแบบระบบ EGAT V2G & VPP ซึ่งเป็นระบบควบคุมการสั่งจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถอีวีหลาย ๆ คัน กลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าพร้อมกัน และส่งกำลังไฟฟ้าเสมือนนี้ให้ศูนย์ Demand Response Control Center (DRCC) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กฟผ. ขานรับแนวคิดโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) รองรับการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในโครงการพัฒนาแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 ภายใต้โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ระยะที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับนิสสัน ประเทศไทย ในครั้งนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการศึกษาเทคโนโลยี V2G ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงการนำข้อมูลมาใช้จัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตต่อไป
ปัจจุบัน นิสสันจำหน่ายรถยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า 2 รุ่นในประเทศไทย ได้แก่ นิสสัน ลีฟ ซึ่งเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของโลกที่ออกสู่ตลาด ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และรถยนต์นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ ซึ่งเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้า ที่นิสสันผลิตในประเทศไทย
ในฐานะผู้นำตลาดด้านยานยนต์ไฟฟ้า นิสสันได้เริ่มบุกเบิกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการเปิดตัวนิสสัน ลีฟ เป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2553 นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ขับขี่ทั่วโลกที่หันมาใช้นิสสัน ลีฟมากกว่า 600,000 คัน คาดว่าผู้ขับขี่รถยนต์รุ่นนี้ทั่วโลกได้ใช้ นิสสัน ลีฟ ในการเดินทางเป็นระยะทางรวมแล้วกว่า 23,000 ล้านกิโลเมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนระบบไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น