มุ่งสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593
บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดตัวเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยแห่งอนาคตเป็นครั้งแรกในโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย ไร้กังวลกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และเพลิดเพลินกับอิสระในทุกการขับเคลื่อน
ทั้งนี้ฮอนด้ามุ่งมั่นที่สร้าง “สังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ตามเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ. 2593” ด้วยการใช้ 2 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ ครั้งแรกในโลก*1 กับเทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI-powered Intelligent Driver-Assistive Technology) ที่สามารถให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความสามารถและการใช้งานของผู้ขับขี่แต่ละคน โดยช่วยลดความผิดพลาดและความเสี่ยงในการขับขี่ ทำให้ผู้ขับขี่ใช้งานได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
พร้อมด้วยเทคโนโลยีเครือข่ายสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่ (Safe and Sound Network Technology) ที่เชื่อมต่อผู้ใช้ถนนทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทั้งผู้คนและผลิตภัณฑ์เพื่อการขับเคลื่อนทั้งหมด ผ่านระบบโทรคมนาคม เพื่อช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และช่วยคนให้เลี่ยงความเสี่ยงนั้นๆ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
เป้าหมายหลักคือ “การสร้างสังคมปลอดอุบัติเหตุและลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593” โดยฮอนด้าจะขยายการติดตั้ง ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง 360 (Honda SENSING 360) ซึ่งเป็นระบบความปลอดภัยรอบทิศทางและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ ให้ครอบคลุมรถยนต์ทุกรุ่นที่จะวางจําหน่ายในตลาดหลักทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ ฮอนด้าจะเดินหน้าขยายการใช้งานฟังก์ชันตรวจจับรถจักรยานยนต์ และปรับปรุงฟังก์ชันต่าง ๆ ของระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver-Assistant System – ADAS) ให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังเดินหน้านำเทคโนโลยีความปลอดภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไปใช้ให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีความปลอดภัย (Honda Safety EdTech) ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ฮอนด้าทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง*2 ภายในปี พ.ศ. 2573
1) เรื่องความปลอดภัยที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล: ตั้งเป้า “ลดความผิดพลาดของมนุษย์ให้เป็นศูนย์” เมื่อขับขี่ด้วยยานยนต์ที่ติดตั้ง “เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driver-Assistive Technology)”
2) ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีเครือข่ายสนับสนุนความปลอดภัยในการขับขี่ (Safe and Sound Network Technology) ที่เชื่อมโยงผู้ใช้ถนนทั้งหมดด้วยระบบการสื่อสารโทรคมนาคม
ฮอนด้าตั้งเป้าที่จะนําเทคโนโลยีนี้ไปประยุกต์ใช้งานจริงหลังจาก พ.ศ. 2573 โดยจะสร้างระบบและตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งานให้เสร็จสมบูรณ์ในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2020 จากนั้น จะเร่งสร้างร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม พร้อมภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นเทคโนโลยีมาตรฐานในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2020 เพื่อมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ผู้คนสามารถเดินทางได้โดยอิสระไร้กังวล ผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสื่อสาร